งานวิจัยและบริการวิชาการ

ประโยชน์กับชุมชน-สังคม-ประเด็นร้อน

หนังสือการเพาะเลี้ยงกบนา

ภาพที่ 1 หนังสือการเพาะเลี้ยงกบนา

บทในหนังสือมี 12 ตอน ดังนี้

* บทที่ 1 ประวัติการเลี้ยงกบในประเทศไทย

* บทที่ 2 สัณฐานและกายวิภาคของกบ

* บทที่ 3 ประโยชน์ของเนื้อกบและการใช้เป็นอาหารทางเลือก

* บทที่ 4 นิเวศวิทยาของกบ

* บทที่ 5 พฤติกรรมของกบนา

* บทที่ 6 บ่อเลี้ยงกบแบบต่าง ๆ

            หนังสือการเพาะเลี้ยงกบนา (ภาพที่ 1) เป็นหนังสือที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการเลี้ยงกบนาในประเทศไทย สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับกบนา การเลี้ยง การทำบ่อ การให้อาหาร การเกิดโรคและการรักษา การตลาดและเมนูอาหารจากที่ต่าง ๆ และนอกจากนั้นยังได้สอดแทรกประสบการณ์จากผู้เลี้ยงจริงมาเพื่อเป็นแนวทางสำหรับผู้ที่กำลังเลี้ยงหรือผู้เลี้ยงมือใหม่ ภายในหนังสือมีการรวบรวมเอกสาร ข้อมูลจากสื่อออนไลน์ และข้อมูลจากการศึกษาในภาคสนาม ซึ่งองค์ความรู้เหล่านั้นล้วนเป็นข้อมูลที่สำคัญที่จะทำให้การเพาะเลี้ยงกบนาในประเทศไทยก้าวหน้าขึ้นไปเรื่อย ๆ หนังสือการเพาะเลี้ยงกบนาเป็นผลงานของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิเชฎฐ์ คนซื่อ ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ (ภาพที่ 2)

ภาพที่ 2 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิเชฎฐ์ คนซื่อ ผู้เขียนหนังสือการเพาะเลี้ยงกบนา

* บทที่ 7 สูตรอาหารสำเร็จรูปและอาหารธรรมชาติสำหรับกบ

* บทที่ 8 การผสมพันธุ์ของกบ เทคนิคการผสมพันธุ์มีแบบธรรมชาติและการใช้ฮอร์โมนกระตุ้น

* บทที่ 9 การอนุบาลลูกอ็อด

* บทที่ 10 โรคในกบนา

* บทที่ 11 ขายกบที่ไหนดี

* บทที่ 12 เมนูจากเนื้อกบ

ภาพที่ 3 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิเชฎฐ์ คนซื่อ จัดอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่องการเพาะเลี้ยงกบนาแบบผสมผสานภายในกิจกรรมพัฒนาศักยภาพชุมชนท้องถิ่นและการจ้างงาน เมื่อปี พ.ศ. 2558 เป็นหนึ่งในจุดเริ่มต้นของการพัฒนาหลักสูตรการเพาะเลี้ยงกบนาและการเขียนหนังสือเพาะเลี้ยงกบนา

          ส่วนที่มาของหนังสือเล่มนี้ เกิดจากการเปิดสอนรายวิชาการเพาะเลี้ยงกบ (Frog Culture) และภาควิชาชีววิทยาก็ได้ใช้กบเป็นสัตว์ทดลองในการเรียนการสอน ตลอดจนการที่ผู้เขียนได้ทำงานวิจัยร่วมกับ รองศาสตราจารย์ ผุสดี ปริญานนท์ และคณะ ที่ได้ร่วมสนองงานในโครงการพระราชดำริในโครงการ/กิจกรรมที่ทำให้กับศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยห้องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.เชียงใหม่ เป็นการลงปฏิบัติกับเกษตรกร เช่น การฝึกอบรมและถ่ายทอดความรู้ให้กับเกษตรกร เป็นเวลาหลายปี  

           นอกจากนี้ ในปี พ.ศ. 2554 เป็นปีที่สมเด็จพระเทพฯ ได้เสด็จไปที่ จ.น่าน และได้ทอดพระเนตรกิจกรรมของ ศูนย์เครือข่ายการเรียนรู้เพื่อภูมิภาคแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จ.น่าน เป็นพันธะสัญญาที่ทางภาควิชาต้องทำให้ได้ที่จะถ่ายทอดองค์ความรู้เหล่านี้สู่เกษตรกร และในปี พ.ศ. 2558 จึงได้มีการสนับสนุนอาชีพเลี้ยงกบให้แก่เกษตรกร ในกิจกรรม “รักษ์ป่าน่าน” ซึ่งจะเป็นการช่วยปลูกจิตสำนึก การสร้างอาชีพเสริม ลดการตัดไม้ทำลายป่า ลดการปลูกข้าวโพดหรือพืชเชิงเดี่ยวซึ่งเป็นต้นตอที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่หรือการตัดไม้ทำลายป่าในจังหวัดภาคเหนือโดยเฉพาะ ในจ.น่าน พร้อมกันนั้นยังได้มีการจัดอบรมการเลี้ยงกบนาให้กับทหารในพระองค์ ในโครงการ “ทหารพันธ์ดี หรือตำรวจพันธ์ดี” (ภาพที่ 3) โดยมีการสอนทางด้านการเกษตรให้กับทหารเกณฑ์ เพราะพอปลดประจำการไป จะได้มีอาชีพสร้างรายได้ให้กับตัวเอง ซึ่งได้สั่งสมความรู้หลากหลายมากมาย จนเกิดมาเป็น “หนังสือการเพาะเลี้ยงกบนา”

          ทั้งนี้อาชีพการเพาะเลี้ยงกบ ไม่ได้มีมาตรฐานเหมือนการเลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ แต่หากมีการใช้หลักการทางชีววิทยาเข้าไปอธิบาย ลงลึกในการเพาะเลี้ยง ให้ความรู้ตั้งแต่สรีระ กายวิภาคศาสตร์ พฤติกรรม และการสืบพันธ์ ดังนั้นหนังสือเล่มนี้ยังเป็นแนวทางให้กับเกษตรกรจะได้เห็นถึงปัญหาต่าง ๆ ในการเพาะเลี้ยงกบนา ทำให้ผู้เลี้ยงเข้าใจ สามารถดูแลและจัดการฟาร์มได้ถูกต้อง รู้ที่มาที่ไป ไม่ให้เกิดการก่อโรคต่าง ๆ  มีการให้ข้อมูลตัวยาในการรักษา และป้องกัน และข้อมูลสารเคมีที่ใช้ในการรักษาความสะอาดพื้นที่ของตัวบ่อหรือสารเคมีที่ใช้ในการป้องกันจากแร่ธาตุหรือสารอาหารช่วยในการเสริมภูมิคุ้มกันหรือทำให้กบมีความแข็งแรง ซึ่งจะป้องกันไม่ให้กบติดเชื้อโรคได้ เช่น โปรไบโอติกซ์ (probiotics) ซึ่งเป็นที่น่าสนใจสำหรับการวิจัย สามารถให้เกษตรกรนำเอาไปใช้ได้เป็นคู่มือสำหรับการที่จะเพาะเลี้ยงกบนาเชิงลึกได้ พร้อมกับมีข้อมูลที่ได้จากการวิจัยกับภาควิชาเทคโนโลยีทางอาหาร คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ที่ระบุว่า เนื้อกบ จะมีกลิ่น มีรสชาติพิเศษ สามารถยกระดับเป็นอาหารฟังก์ชัน (Functional food) หรืออาหารสุขภาพได้ เพราะมีไขมันต่ำ ซึ่งจะเป็นการขยายโอกาสของกลุ่มการเลี้ยงกบมากขึ้น 

          หนังสือเล่มนี้ ได้รับการสนับสนุนจาก ศูนย์เครือข่ายการเรียนรู้เพื่อภูมิภาค โดยไม่ได้มีวางจำหน่าย แต่จะมีการแจกจ่ายให้กับเกษตรกรหรือผู้อ่าน หรือโรงเรียน ซึ่งตามโรงเรียนอาจจะมีการเพาะเลี้ยงด้วย แต่ยังไม่มีคู่มือในการเลี้ยง สามารถนำองค์ความรู้จากหนังสือเล่มนี้ไปใช้ได้ อีกทั้งยังช่วยให้เกษตรกรมีความรู้เมื่อมีการเผชิญปัญหาต่างๆ

         นอกจากนี้ ปัจจุบัน ผศ.ดร.วิเชฎฐ์ คนซื่อ ยังได้เปิด “โครงการสาธิตการเลี้ยงกบนาแบบผสมผสาน” (ภาพที่ 4) ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สระบุรี พร้อมสำหรับการอบรมการเลี้ยงกบ (ติดต่อล่วงหน้าและนัดหมายเท่านั้น) “มาเรียน มารู้ มาดูงานการเพาะเลี้ยงกบนากันเถิด” ผู้สนใจสามารถติดต่อได้ที่ ศูนย์เครือข่ายการเรียนรู้เพื่อภูมิภาค จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สระบุรี ต.ชำผักแพว อ.แก่งคอย จ.สระบุรี ติดต่อและสอบถามได้ที่ คุณสุทธิณี เหลาแตว โทรศัพท์ 0863471248  

 

สำหรับผู้ที่สนใจ ขอหนังสือได้ที่ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ จำกัดจำนวน 50 เล่ม โทร.02-2185013

ภาพที่ 4-5 “โครงการสาธิตการเลี้ยงกบนาแบบผสมผสาน” ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สระบุรี พร้อมสำหรับการอบรมการเลี้ยงกบ (ติดต่อล่วงหน้าและนัดหมายเท่านั้น) “มาเรียน มารู้ มาดูงานการเพาะเลี้ยงกบนากันเถิด” ผู้สนใจสามารถติดต่อได้ที่ ศูนย์เครือข่ายการเรียนรู้เพื่อภูมิภาค จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สระบุรี ต.ชำผักแพว อ.แก่งคอย จ.สระบุรี ติดต่อและสอบถามได้ที่ คุณสุทธิณี เหลาแตว โทรศัพท์ 0863471248

ที่มา

รายการทันโลกวิทยาศาสตร์  ทุกวันเสาร์ 10.00-10.30 น. ทางสถานีวิทยุจุฬาฯ FM101.5

เรื่อง “หนังสือการเพาะเลี้ยงกบนา”  โดย ผศ. ดร.นพดล กิตนะ ภาควิชาชีววิทยา

ออกอากาศวันที่  2 เมษายน 2565

เว็บไซต์  https://www.youtube.com/watch?v=XEJUDuRP7ec

เรียบเรียงข้อมูลโดย  :  ผศ.ดร.สิทธิพร ภัทรดิลกรัตน์ และ คุณธนัฎฐา สุทธิมาศ งานวิจัยและบริการวิชาการ คณะวิทยาศาสตร์

เอกสารอ้างอิง

วิเชฎฐ์ คนซื่อ. (2565) การเพาะเลี้ยงกบนา. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

📢📢**ประชาสัมพันธ์ บริการใหม่!!! จาก งานวิจัยและบริการวิชาการ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อเพิ่ม KPI ภาควิชา/CE-RU-STAR** 📢📢

👉อาจารย์ที่สนใจสามารถนัดสัมภาษณ์เพื่อให้ข้อมูลข่าว หรือ ส่งข่าวสั้นมาได้ที่ลิ้ง https://forms.gle/7rpAGtXRP2QTCAX79 หรือ สแกน QR code ด้านล่างนี้

👉สอบถามเพิ่มเติมติดต่อ งานวิจัยและบริการวิชาการ คุณธนัฏฐา สุทธิมาศ โทรศัพท์ 02-2185128