ระวัง
ภัยเงียบจาก “โนโรไวรัส” ทำนักเรียน – ครู ป่วยเกือบ 700 คน
.จากข่าว เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุข รายงานอาการป่วยโรคทางเดินอาหารของนักเรียน 2 โรงเรียน ใน อ.แกลง จ.ระยอง สาเหตุมาจากโนโรไวรัสจากน้ำดื่มและน้ำแข็ง ที่ไม่ได้มาตรฐาน ในกิจกรรมกีฬาสี ซึ่งไวรัสชนิดนี้ระบาดได้มากในฤดูหนาว… #โนโรไวรัส #โรคทางเดินอาหาร
.วันนี้ Sci Chula จะพาไปรู้จักกับไวรัสตัวร้ายที่ชื่อว่า “โนโรไวรัส (Norovirus)” ที่พบว่ากำลังแพร่ระบาดหนักในตอนนี้ มา
#ไขปริศนา_กับ_Sci_Chula Ep.5 ไปพร้อมกัน
.โนโรไวรัส (Norovirus) คืออะไร
โนโรไวรัส (Norovirus; เดิมเรียกว่า Norwalk virus) เป็นสาเหตุหนึ่งของอาการอาเจียนและท้องเสีย ซึ่งไวรัสชนิดนี้สามารถติดต่อได้ง่ายมาก คนทุกช่วงอายุสามารถติดเชื้อและป่วยด้วยโนโรไวรัสได้ โดยเฉพาะในช่วงที่มีการระบาดของโนโรไวรัส และในเด็กที่อายุต่ำกว่า 5 ปี ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ มีแนวโน้มที่จะเกิดการติดเชื้อรุนแรงมากกว่า
.ทำไมแค่กินน้ำแข็งจึงติดเชื้อไวรัสได้
เป็นไปได้ว่าอาจจะ มีผู้ป่วยที่ติดเชื้อโนโรไวรัส หรือสัมผัสผู้ป่วย แล้วมาปนเปื้อนในน้ำแข็ง ซึ่งเชื้อก็สามารถมีชีวิตอยู่ในน้ำแข็งได้เวลานาน หากกระบวนการผลิต การขนส่ง หรือการเก็บรักษาน้ำแข็งไม่มีมาตรฐาน ก็อาจทำให้เชื้อกระจายสู่คนเป็นจำนวนมากได้ เพราะไวรัสแพร่กระจายได้เร็วมาก นอกจากน้ำแข็งแล้ว อาหารต่าง ๆ เช่น อาหารทะเล ก็อาจเป็นแหล่งแพร่โนโรไวรัสได้อีกด้วย
อย่างไรก็ดี การปนเปื้อนจากเชื้อแบคทีเรียอื่น ๆ เช่น E.coli อาจก่อให้เกิดโรคร้ายแรงเช่นกัน.
.การติดต่อของไรโนไวรัสเป็นอย่างไร
โนโรไวรัสแพร่กระจายได้ง่ายและรวดเร็วในหลายวิธี เช่น
การสัมผัสโดยตรงกับผู้ที่ติดเชื้อโนโรไวรัส เช่น การดูแลผู้ป่วย การรับประทานอาหารหรือใช้อุปกรณ์รับประทานอาหารร่วมกัน หรือรับประทานอาหารที่ผู้ติดเชื้อเป็นผู้จัดเตรียม
การรับประทานอาหาร หรือเครื่องดื่มที่ปนเปื้อนโนโรไวรัส
การสัมผัสวัตถุหรือพื้นผิวที่ปนเปื้อน แล้วใช้มือที่ยังไม่ได้ล้างสัมผัสปาก
นอกจากนี้ การรับประทานหอยนางรมดิบหรือหอยอื่น ๆ ที่มีโนโรไวรัส และ/หรือไวรัสและแบคทีเรียอื่น ๆ ปนเปื้อนอยู่อาจทำให้เกิดโรคหรือแม้กระทั่งเสียชีวิตได้
.มีลักษณะอาการที่พบเป็นอย่างไร
ลักษณะอาการที่พบบ่อยของผู้ป่วยที่ติดโนโรไวรัสมักเริ่มแสดงหลังจากสัมผัสเชื้อประมาณ 12 ถึง 48 ชั่วโมง ได้แก่ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย และปวดท้อง อย่างไรก็ดีผู้ป่วยอาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น มีไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามร่างกาย เกิดภาวะขาดน้ำ (การสูญเสียน้ำในร่างกาย) เนื่องจากสูญเสียน้ำไปจากการอาเจียนและท้องเสีย
โดยภาวะขาดน้ำอาจเกิดขึ้นได้ หากผู้ป่วยอาเจียนหรือท้องเสียหลายครั้งต่อวัน โดยเฉพาะในเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัว อาการของภาวะขาดน้ำ ได้แก่ ปัสสาวะลดลง ปากและลำคอแห้ง เวียนศีรษะเมื่อลุกยืน ง่วงซึมหรือหงุดหงิดผิดปกติ สำหรับในเด็กเล็กร้องไห้โดยมีน้ำตาน้อยหรือไม่มีเลย ดังนั้นควรดื่มน้ำให้เพียงพอเพื่อทดแทนน้ำที่สูญเสียไปจากการอาเจียนและท้องเสีย บางรายอาจจำเป็นต้องดื่มเกลือแร่ ในกรณีขาดน้ำอย่างรุนแรงควรเข้ารักษาหรือพบแพทย์โดยทันที เนื่องจากอาจต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาลและได้รับน้ำเกลือทางหลอดเลือด (IV fluids)
.ระยะเวลาในการฟื้นตัวของผู้ป่วยเป็นอย่างไร
ผู้ป่วยที่ติดโนโรไวรัสสามารถหายได้ภายใน 1-3 วัน อย่างไรก็ดี ผู้ป่วยยังสามารถแพร่เชื้อไวรัสไปยังผู้อื่นได้อีกหลายวันหลังจากหายป่วยแล้ว อาจเป็นเวลาสองสัปดาห์หรือมากกว่านั้น
.โอกาสในการติดเชื้อไวรัสซ้ำ
สามารถติดโนโรไวรัสได้หลายครั้ง และเป็นไปได้ที่ร่างกายจะพัฒนาภูมิคุ้มกันต่อโนโรไวรัสบางชนิด แต่การติดโนโรไวรัสชนิดหนึ่งอาจไม่สามารถป้องกันการติดโนโรไวรัสชนิดอื่นได้ เนื่องจากมีชนิดของโนโรไวรัสหลากหลาย และยังไม่ทราบแน่ชัดว่าภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นนี้คงอยู่ได้นานเพียงใด ซึ่งเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คนทุกช่วงอายุมีโอกาสติดเชื้อได้ในช่วงที่มีการระบาดของโนโรไวรัส
มีวิธีการป้องกันอย่างไรบ้าง
โนโรไวรัสสามารถติดต่อได้ง่ายมาก แต่เราสามารถป้องกันได้ด้วยวิธีดังนี้
ล้างมือให้สะอาดและบ่อยครั้ง
ล้างผักและผลไม้ให้สะอาด
ปรุงหอยและอาหารทะเลให้สุก การปรุงอาหารให้สุกอย่างทั่วถึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะโนโรไวรัสสามารถทนความร้อนสูงถึง 63 องศาเซลเซียส การนึ่งแบบอุ่นอาจไม่สามารถกำจัดไวรัสจากอาหารทะเลได้
ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อพื้นผิวที่ปนเปื้อน
ซักผ้าด้วยน้ำร้อน
เมื่อหายป่วยจากโนโรไวรัสให้พักอยู่บ้านอย่างน้อย 2 วัน (48 ชั่วโมง) หลังจากอาการหยุดแล้ว
.การทำความสะอาดพื้นผิวที่ปนเปื้อนมีวิธีอย่างไร
หลังจากอาเจียนหรือท้องเสีย ควรทำความสะอาดและฆ่าเชื้อพื้นผิวที่ปนเปื้อนทันที โดยใช้สารละลายคลอรีนที่มีความเข้มข้น 1,000 ถึง 5,000 ppm (5 ถึง 25 ช้อนโต๊ะของน้ำยาฟอกขาวในครัวเรือน [5.25%] ต่อน้ำ 1 แกลลอน) หรือสารฆ่าเชื้ออื่น ๆ ที่มีประสิทธิภาพต่อการกำจัดโนโรไวรัส
.การวินิจฉัย
วิธีการวินิจฉัยโรคโนโรไวรัสมุ่งเน้นไปที่การตรวจหา RNA ของไวรัส (สารพันธุกรรม) หรือแอนติเจนของไวรัส การทดสอบวินิจฉัยมีให้บริการในห้องปฏิบัติการสาธารณสุข และในห้องปฏิบัติการคลินิกบางแห่ง
.
ขอขอบคุณ ศาสตราจารย์ ดร.วันชัย อัศวลาภกุล จากภาควิชาจุลชีววิทยา ที่ให้ข้อมูลในครั้งนี้
.
เอกสารอ้างอิง
– Chhabra, P. et al. Updated classification of norovirus genogroups and genotypes. J. Gen. Virol. 100(10), 1393–1406. https://doi.org/10.1099/jgv.0.001318 (2019).
– https://www.cdc.gov/norovirus/ (เข้าถึงล่าสุด 25 พฤศจิกายน 2567)