งานบริการวิชาการและวิจัย

ประโยชน์กับชุมชน-สังคม-ประเด็นร้อน

REduce with BMW โดย ทีม IN DEEP SHIRT โปรเจ็กต์

ภาพที่ 1 นางสาวธีตามาส ปรักมาศ ภาควิชา วัสดุศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ

           REduce with BMW โดย ทีม IN DEEP SHIRT โปรเจ็กต์ มีแนวคิดในการลดปริมาณเสื้อผ้าจาก Fast Fashion โดยนางสาวธีตามาส ปรักมาศ ภาพที่ 1 และนางสาว ฉัตรนรี ชำปฏิ ภาควิชาวัสดุศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ  โดยสร้างแพลตฟอร์มที่ผู้ใช้สามารถนำเสื้อผ้าที่ไม่ใส่แล้ว มาให้ช่างฝีมือออกแบบเป็นดีไซน์หรือของใช้อื่น ๆ เช่น หมวก โดยร่วมมือกับกลุ่มโรงเรียนฝึกวิชาชีพและสมาคมผู้พิการ เพื่อลดปริมาณเสื้อผ้าจาก Fast Fashion และสร้างอาชีพ

             REduce เป็นหนึ่งใน 4 ด้านหลักของโครงการ Choice is Yours      ที่จัดขึ้นเพื่อสนับสนุนการต่อยอดแนวคิดของคนรุ่นใหม่ที่มีต่อการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ผ่านการพัฒนาโครงการต่าง ๆ ที่นำมาใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน มีเป้าหมายหลักในการพยายามรักษาการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียสตามความตกลงปารีส (Paris Agreement) และส่งเสริมแนวคิดด้านความยั่งยืน โดย 4 ด้านหลัก ได้แก่

  1. REduce โดย บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ประเทศไทย

แนวทางในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมโดยมุ่งเน้นแนวคิด “ลดเพื่อเพิ่ม” ไม่ว่าจะเป็นการลดการใช้วัสดุหรือทรัพยากรที่เกี่ยวข้อง หรือการสร้างความเปลี่ยนแปลงที่จะสามารถลดการสร้างขยะ มลพิษ และของเสียต่าง ๆ เพื่อนำไปสู่การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติให้ยั่งยืนยิ่งขึ้น

  1. REuse โดย มูลนิธิชัยพัฒนา

การนำทรัพยากรที่มีอยู่กลับมาใช้ใหม่เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าและประโยชน์สูงสุด เพื่อรักษาทรัพยากรให้คงอยู่อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด เช่น การยืดอายุวงจรผลิตภัณฑ์ สิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ ผ่านการใช้ซ้ำ หรือการนำทรัพยากรท้องถิ่นมาออกแบบและใช้งานใหม่โดยที่ยังคงคุณค่าเดิมของทรัพยากรไว้เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าสูงสุด

  1. REthink โดย ไมโครซอฟท์

การนำเทคโนโลยีมาผสมผสาน ปรับเปลี่ยน หรือสร้างสรรค์แนวคิดใหม่ ๆ ที่เสริมสร้างความยั่งยืน สร้างความรู้ความเข้าใจด้านผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อม และขับเคลื่อนให้เกิดความเปลี่ยนแปลงได้ ไม่ว่าในระดับบุคคล องค์กร หรือสังคมในภาพรวม

  1. REcycle โดย เอสซีจี

การนำทรัพยากรที่ใช้งานแล้วมาผ่านกระบวนการแปรรูปเพื่อนำกลับมาใช้งานใหม่ โดยหัวใจสำคัญของการ Recycle ที่แตกต่างจากการ Reuse คือ เป็นการจัดการของเสียหรือวัสดุเหลือใช้ที่กำลังจะเป็นขยะ โดยนำไปผ่านกระบวนการแปรสภาพ หรือปรับปรุงคุณภาพ ให้กลับมามีคุณภาพเทียบเท่าหรือใกล้เคียงของเดิม หรือให้ได้วัตถุดิบใหม่ หรือผลิตภัณฑ์ใหม่ ที่อาจเปลี่ยนจุดประสงค์ในการใช้งาน เพื่อสร้างคุณค่าใหม่ให้แก่ทรัพยากร และสร้างการหมุนเวียนทรัพยากรอย่างยั่งยืน

          นางสาวธีตามาส ปรักมาศ เล่าว่า เริ่มแรกในขั้นตอนของการสมัครเข้าร่วมการแข่งขัน จะต้องเสนอแนวคิดโปรเจคที่จะทำไปพร้อมด้วย แต่ติดปัญหาตรงที่เหลือเวลาอีกแค่วันเดียวเท่านั้น แต่ด้วยความที่อยากลองทำอะไรใหม่ๆหลังจากไม่ได้เข้าร่วมกิจกรรมอะไรเลยในช่วงที่โควิดที่ผ่านมา จึงได้จัดตั้งทีมกับเพื่อน คือ นางสาว ฉัตรนรี ชำปฏิ แล้วพยายามหาไอเดียร่วมกัน จนสุดท้ายกลับมามองอะไรรอบๆตัว หนึ่งในปัจจัยสี่ที่ทุกคนต้องใช้ทุกวัน นั้นคือ เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม เราเล็งเห็นว่าในปัจจุบันที่เป็นยุคของโซเชียลมีเดีย เราเข้าถึงทุกอย่างได้ง่ายไปหมด การเห็นไลฟ์สไตล์ เห็นการใช้ชีวิตของคนบนโซเชียลผลัดเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ไม่รู้จบ จนปฏิเสธไม่ได้ว่าบางครั้งเราก็ซื้อสินค้า สิ่งของต่างๆตามคนเหล่านั้น มันจึงเป็นสาเหตุหนึ่งของการเพิ่มขึ้นของความต้องการเสื้อผ้าที่เกินพอดี  อยากเปลี่ยนเสื้อผ้าใหม่ตามเทรนช่วงเวลานั้นๆ อุตสาหกรรมสิ่งทอจึงเติบโตขึ้นทุกปี โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเสื้อผ้า fast fashion ที่ส่งผลลบต่อโลกของเรามากมายตั้งแต่ต้นน้ำจนปลายน้ำ ทั้งปล่อยแก็สเรือนกระจกคาร์บอนไดออกไซด์ หรือการใช้น้ำสะอาดในการผลิตปริมาณมหาศาล เราจึงคิดว่าอยากจะเป็นส่วนหนึ่งในการลดปัญหาตรงนี้ โดยคอนเซปง่ายๆ คือ “ทำยังไงก็ได้ให้ลดการผลิตเสื้อผ้าลงแค่ 1 ชุดก็ถือว่าได้ช่วยโลกแล้ว” มันจึงเป็นที่มาของโปรเจคของเราที่ชื่อว่า In deep shirt โดยตั้งใจจะเป็นตัวกลางระหว่างผู้คนที่มีฝีมือในด้านการตัดเย็บเสื้อผ้า เช่น สมาคมผู้พิการ กลุ่มโรงเรียนฝึกวิชาชีพ เป็นต้น กับ คนธรรมดาทั่วไปที่มีความสนใจที่จะนำเสื้อผ้าเก่ามาเปลี่ยนแปลงให้เป็นรูปแบบใหม่ โดยอาจจะทำให้ทันสมัยขึ้น ตามความต้องการของตนเอง ซึ่งข้อดีก็คือสิ่งที่ได้จะสามารถ customize โดยเฉพาะ เพื่อคนๆเดียว สิ่งที่เราจะได้จากโปรเจคนี้ก็คือ ลดความต้องการซื้อเสื้อผ้าใหม่ที่ออกมาจากโรงงาน ซึ่งเมื่อขายได้น้อยลงโรงงานก็จะผลิตเสื้อผ้าออกมาน้อยลงเช่นเดียวกัน นำไปสู่การลดการใช้ทรัพยากรในกระบวนการต่างๆได้ ลด carbon footprint ตั้งแต่ต้นน้ำ คือ เก็บเกี่ยวต้นฝ้าย ไปจนถึงปลายน้ำคือการทำลายเสื้อผ้าเหล่านั้น และสุดท้ายคือการกระจายรายได้สู่ชุมชน โดยเราส่งโปรเจคนี้ไปในหัวข้อ REDUCE และได้ถูกรับเลือกเข้ารอบเป็น 5 ทีมสุดท้ายในหัวข้อนี้ ระหว่างการแข่งขันก็จะมี work shop ต่างๆมากมาย ได้พัฒนาแนวคิดโปรเจค มีคนให้คำปรึกษาที่มีความรู้และวิสัยทัศน์เกี่ยวกับเรื่องสิ่งแวดล้อม เรียนรู้มากขึ้นเกี่ยวกับ Sustainability ซึ่งตอนนี้ทุกคนให้ความสนใจกันมากๆตั้งแต่คนทั่วไป ไปจนถึงบริษัทชั้นนำต่างๆ สุดท้ายถึงแม้จะไม่ชนะเลิศ แต่ประสบการณ์ที่ได้รับก็ถือเป็นหนึ่งในรางวัลที่ภูมิใจค่ะ

สิ่งที่คาดหวังจะให้เกิดขึ้นในอนาคต

          คาดหวังว่าเราจะได้อยู่ในโลกที่ดีขึ้นกว่านี้ ในความหมายที่ว่าเรา สัตว์ ธรรมชาติจะอยู่ร่วมกันอย่างสมดุล ถึงแม้ว่าเทคโนโลยีจะพัฒนามากแค่ไหนแต่ความเข้าใจในเรื่องรักษาสิ่งแวดล้อมก็จะยังคงอยู่ควบคู่กันไป

 

สิ่งที่อยากจะฝากบอกกับประชาชนทั่วไป

หวังว่าทุกคนจะรับรู้ถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เป็นอยู่ ณ ปัจจุบัน ถึงแม้ว่าทุกวันนี้คนเริ่มตื่นตัวกันบ้างแล้วแต่ก็ยังไม่ค่อยมีคนที่ลงมือทำอย่างจริงจัง อยากให้คิดว่าเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องใกล้ตัว ถ้าเราไม่ดูแลมัน ผลกระทบก็จะส่งถึงเราอย่างแน่นอน

 

พูดถึงหน่วยงานที่ให้รางวัล

ขอบคุณทุกหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการแข่งขันนี้ ถึงจะพูดว่าเป็นเวทีการแข่งขันก็จริงแต่ความเห็นส่วนตัวแล้วแก้มคิดว่ามันมากกว่านั้น โดนเฉพาะคุณค่าทางสังคม ให้สังคมรับรู้ถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม นวัตกรรมต่างๆ ผ่านโปรเจ็คที่นักเรียนนักศึกษาได้คิดขึ้น นอกจากนั้นยังได้ประสบการณ์มากมายอีกด้วย

เรียบเรียงข้อมูลโดย  : 

นางสาวธีตามาส ปรักมาศ ภาควิชา วัสดุศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ศาสตราจารย์ ดร.นิศานาถ ไตรผล และ น.ส.ธนัฎฐา สุทธิมาศ งานวิจัยและบริการวิชาการ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ บรรณาธิการ

เผยแพร่ : 3 เมษายน 2566

📢📢**ประชาสัมพันธ์ บริการใหม่!!! จาก งานวิจัยและบริการวิชาการ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อเพิ่ม KPI ภาควิชา/CE-RU-STAR** 📢📢

👉อาจารย์ที่สนใจสามารถนัดสัมภาษณ์เพื่อให้ข้อมูลข่าว หรือ ส่งข่าวสั้นมาได้ที่ลิ้ง https://forms.gle/7rpAGtXRP2QTCAX79 หรือ สแกน QR code ด้านล่างนี้

👉สอบถามเพิ่มเติมติดต่อ งานวิจัยและบริการวิชาการ คุณธนัฏฐา สุทธิมาศ โทรศัพท์ 02-2185128