งานบริการวิชาการและวิจัย

ประโยชน์กับชุมชน-สังคม-ประเด็นร้อน

อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ค้นพบ กะท่างน้ำชนิดใหม่ของโลก

ภาพ ยุคบุกเบิกการสำรวจกระท่างน้ำในเขตพื้นที่อนุรักษ์ในประเทศไทยของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปรวีร์ พรหมโชติ (ขณะเป็นนิสิตระดับปริญญาโท ภายใต้การดูแลของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิเชฏฐ์ คนซื่อ) ในปี พ.ศ. 2548

ผศ. ดร. สิทธิพร ภัทรดิลกรัตน์ – บรรณาธิการ

         กะท่างน้ำเป็นสัตว์มีกระดูกสันหลังในกลุ่มของสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ จัดอยู่ในกลุ่มเดียวกับ กบ เขียด คางคก เขียดงู ซาลาแมนเดอร์ และนิวท์ กะท่างน้ำมีผิวหนังคล้ำ มีจุดเด่นคือการมีแต้มสีสดบนบางส่วนของร่างกาย มีต่อมพิษเรียงเป็นแถวอยู่ข้างลำตัว มีขาหน้าและขาหลังที่ยาวใกล้เคียงกัน และมีหางยาวสามารถว่ายน้ำได้ดี และอาศัยหากินบนบก พบตามแหล่งน้ำหรือที่ชุ่มชื้นบนภูเขาที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเล มากกว่า 1000 เมตร

         เดิม มีการรายงานว่า กะท่างน้ำในประเทศไทยมีเพียงชนิดเดียว คือ กะท่างน้ำหิมาลัย Tylototriton verrucosus ต่อมา ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิเชฏฐ์ คนซื่อ และคุณปรวีร์ พรหมโชติ (นิสิตระดับปริญญาตรีและโท) จึงได้ริเริ่มงานวิจัย บุกเบิกและเริ่มศึกษาความหลากหลายของสัณฐานกะท่างน้ำในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือในประเทศไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 ทำให้ทราบว่า กะท่างน้ำที่พบในประเทศไทยมีลักษณะภายนอกที่แตกต่างกันแบ่งเป็นกลุ่มย่อย ๆ ได้ 2 กลุ่ม

           ในปัจจุบัน ดร.ปรวีร์ พรหมโชติ ได้รับตำแหน่งอาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ ได้ทำการสำรวจพื้นที่เชิงเขาสูงในอุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าในประเทศไทย มากกว่า 20 แห่ง ทำให้ทราบว่า ในประเทศไทยมีกะท่างน้ำอยู่มากถึง 6 ชนิด โดย กะท่างน้ำ จำนวน 3 ชนิด เป็นกะท่างน้ำที่พบเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น ได้แก่ กะท่างน้ำเหนือ T. uyenoi ซึ่งพบในเขตอุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทางภาคเหนือและภาคตะวันตก กะท่างน้ำดอยภูคา T. phukhaensis1 พบเฉพาะในอุทยานแห่งชาติดอยภูคา จังหวัดน่าน และกะท่างน้ำอุ้มผาง T. umphangensis2 พบเฉพาะที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง จังหวัดตาก ซึ่งกะท่างน้ำดอยภูคา และกะท่างน้ำอุ้มผางเป็นกะท่างน้ำชนิดล่าสุดที่มีการค้นพบในปี 2020 และ 2021 ตามลำดับ

ภาพ กะท่างน้ำดอยภูคา T. phukhaensis

ภาพ กะท่างน้ำอุ้มผาง T. umphangensis

           จากการสัมภาษณ์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปรวีร์ พรหมโชติ ทำให้ทราบข้อมูลเชิงลึกว่า ในประเทศไทยยังมีหลายพื้นที่ที่คาดว่าน่าจะมีกะท่างน้ำชนิดใหม่อาศัยอยู่และรอการค้นพบ นอกจากนี้ยังพบว่า ในกลุ่มกะท่างน้ำจำนวน 6 ชนิดที่มีการค้นพบในประเทศไทย มีเพียง กะท่างน้ำหิมาลัย T. verrucosus  เพียง 1 ชนิดเท่านั้นที่ได้รับการคุ้มครองโดยกฎหมาย ในขณะที่กะท่างน้ำชนิดอื่นๆ ยังไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย นอกจากนี้ประเด็นที่น่าวิตกคือ จากการขยายตัวของแหล่งชุมชน และการขาดความรู้ในการอนุรักษ์พื้นที่ ทำให้ประชากรกะท่างน้ำในธรรมชาติมีแนวโน้มลดลงอย่างมาก รวมถึงปัญหาเกี่ยวกับภัยแล้ง ที่ส่งผลทำให้แหล่งน้ำตามพื้นที่ราบสูงมีแนวโน้มลดลง ทำให้กะท่างน้ำขาดพื้นที่ผสมพันธุ์และวางไข่ ดังนั้นการวางแผนอนุรักษ์กะท่างน้ำจึงมีความสำคัญอย่างเร่งด่วน และกะท่างน้ำอาจใช้เป็นดัชนีในการประเมินความสมบูรณ์ของสิ่งแวดล้อม

           การศึกษาเกี่ยวกับกะท่างน้ำยังมีการประโยชน์อย่างมากทั้งด้านการอนุรักษ์ แต่ยังมีประโยชน์ต่อวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพราะกะท่างน้ำเป็นสัตว์มีกระดูกสันหลังเพียงไม่กี่ชนิดที่สามารถซ่อมแซมหรือฟื้นฟูร่างกายได้สมบูรณ์ จึงเหมาะสำหรับใช้เป็นโมเดลในการศึกษาชีววิทยาการเจริญ นอกจากนี้กะท่างน้ำยังมีต่อมเมือกที่มีสารเคมีที่อาจใช้เป็นสารยับยั้งจุลชีพต่างๆ งานวิจัยเหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้หาก กะท่างน้ำในธรรมชาติไม่ได้รับการอนุรักษ์

           ปัจจุบัน ผศ. ดร.ปรวีร์ พรหมโชติ ยังมีงานวิจัยต่อเนื่องเพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการกระจายของกะท่างน้ำในประเทศไทย ทั้งการศึกษาทางด้านสัณฐานวิทยา พันธุศาสตร์ และนิเวศวิทยาของกะท่างน้ำ ผู้สนใจสามารถขอข้อมูลเพิ่มเติมได้ทางอีเมล 

 

ภาพ การสำรวจกระท่างน้ำที่ในสภาพพื้นที่จริง สภาพพื้นที่ที่เหมาะสมเป็นพื้นที่ราบบนภูเขา มีความสูงจากระดับน้ำทะเลสูงกว่า 1000 เมตร และมีแหล่งน้ำสะอาด

ข้อมูลภาพประกอบจาก  :  ผศ.ดร.ปรวีร์ พรหมโชติ

เรียบเรียงข้อมูลโดย  :  ผศ.ดร.สิทธิพร ภัทรดิลกรัตน์ และ คุณธนัฎฐา สุทธิมาศ งานวิจัยและบริการวิชาการ คณะวิทยาศาสตร์

ผลงานวิจัยเด่น

  1. 1. Pomchote, P., Khonsue, W., Thammachoti, P., Hernandez, A.,

Peerachidacho, P., Suwannapoom, C., Onishi, Y. and Nishikawa, K. 2020. A new species of Tylototriton (Urodela: Salamandridae) from Nan Province, Northern Thailand. Tropical Natural History, 20: 144–161.

  1. Pomchote, P., Peerachidacho, P., Hernandez, A., Sapewisut, P., Khonsue, W., Thammachoti, P. and Nishikawa, K. 2021. A new species of the genus Tylototriton (Urodela, Salamandridae) from western Thailand. ZooKeys, 1072: 83–105.

📢📢**ประชาสัมพันธ์ บริการใหม่!!! จาก งานวิจัยและบริการวิชาการ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อเพิ่ม KPI ภาควิชา/CE-RU-STAR** 📢📢

👉อาจารย์ที่สนใจสามารถนัดสัมภาษณ์เพื่อให้ข้อมูลข่าว หรือ ส่งข่าวสั้นมาได้ที่ลิ้ง https://forms.gle/7rpAGtXRP2QTCAX79 หรือ สแกน QR code ด้านล่างนี้

👉สอบถามเพิ่มเติมติดต่อ งานวิจัยและบริการวิชาการ คุณธนัฏฐา สุทธิมาศ โทรศัพท์ 02-2185128