งานบริการวิชาการและวิจัย

ประโยชน์กับชุมชน-สังคม-ประเด็นร้อน

การใช้ประโยชน์จากสาหร่ายจุลภาคเป็นแหล่งผลิตไฮโดรเจน

ผศ. ดร. สิทธิพร ภัทรดิลกรัตน์ – บรรณาธิการ     

        การผลิตไฮโดรเจนจากสาหร่ายจุลภาครวมถึงไซยาโนแบคทีเรีย เพื่อนำไปใช้เป็นพลังงานทางเลือกนั้น เป็นหนึ่งในวิธีที่น่าสนใจในการนำไปประยุกต์ใช้ในเชิงพาณิชย์ ทั้งนี้เนื่องจากสาหร่ายจุลภาคและไซยาโนแบคทีเรียนั้น มีความสามารถในการสังเคราะห์แสง โดยสามารถใช้พลังงานจากแสง เปลี่ยนแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์และน้ำเป็นพลังงานทางเลือกได้หลายชนิด ซึ่งแสดงถึงประสิทธิภาพที่เหมาะสมที่จะเป็นแหล่งผลิตพลังงานทดแทน เพื่อลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลที่ผลิตแก๊สเรือนกระจกสู่สิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังประหยัดการใช้สารตั้งต้นในการผลิตอีกด้วย โดยปัจจุบันนั้น การศึกษาและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตไฮโดรเจนในสาหร่ายจุลภาคและไซยาโนแบคทีเรียนั้น มักจะเกี่ยวข้องกับการใช้เทคโนโลยีพันธุวิศวกรรมหรือการดัดแปรระบบเมแทบอลิซึมภายในเซลล์ เพื่อพัฒนาสายพันธุ์ให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น รวมถึงการพัฒนาระบบถังปฏิกรณ์ชีวภาพให้มีสภาวะที่เหมาะสมในการใช้เลี้ยงสาหร่ายและไซยาโนแบคทีเรีย เพื่อขยายขนาดการผลิต แล้วนำไปประยุกต์ใช้ในเชิงอุตสาหกรรม

15439

ศาสตราจารย์ ดร. อรัญ อินเจริญศักดิ์ ภาควิชาชีวเคมี

          แก๊สไฮโดรเจนเป็นพลังงานสะอาดที่อเนกประสงค์ มีประสิทธิภาพและยั่งยืน โดยสามารถนำมาใช้ทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิลได้ เพราะมีค่าพลังงานสูงเมื่อเทียบกับเชื้อเพลิงไฮโดรคาร์บอนทั่วไป เชื้อเพลิงไฮโดรเจนสามารถนำไปใช้ได้โดยอยู่ในรูปแบบเซลล์เชื้อเพลิงที่แตกต่างกันไป ซึ่งไม่มีการปล่อยมลพิษออกมา มีเพียงการคายน้ำออกมาเท่านั้น และนี่เองเป็นอีกสาเหตุที่นิยมศึกษาและใช้ไฮโดรเจนเป็นพลังงานทดแทน เพราะไม่มีการคายแก๊สเรือนกระจกซึ่งเป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อน และทำร้ายสภาวะแวดล้อมซึ่งเกิดขึ้นจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงฟอสซิล การนำเอาพลังงานจากแก๊สไฮโดรเจนไปใช้มีหลากหลายรูปแบบ เช่น การผลิตไฟฟ้า การใช้เป็นเชื้อเพลิงของเครื่องยนต์จรวด รวมถึงการคมนาคมขนส่ง

          ปัจจุบัน 20% ของพลังงานทั่วโลกถูกใช้อยู่ในรูปแบบพลังงานไฟฟ้า และอีก 80% นั้นอยู่ในรูปพลังงานเชื้อเพลิง โดยไฮโดรเจนนั้นเป็นหนึ่งในพลังงานสะอาดที่สามารถใช้เป็นพลังงานทางเลือก และเป็นพลังงานที่น่าสนใจในอนาคต สาหร่ายจุลภาคสามารถนำมาใช้เป็นผู้ผลิตไฮโดรเจนที่ดีและน่าสนใจในเชิงเทคโนโลยีชีวภาพ ซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อการลดปริมาณแก๊สเรือนกระจก อย่างไรก็ตามข้อจำกัดที่สำคัญในการผลิตไฮโดรเจนเชิงเศรษฐกิจคือค่าใช้จ่ายยังค่อนข้างสูง และเทคโนโลยีการกักเก็บไฮโดรเจนที่ยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ดังนั้นจึงต้องมีการพัฒนาในส่วนนี้เป็นหลัก งานวิจัยส่วนใหญ่ในปัจจุบันจะเน้นการศึกษาในด้านการพัฒนาสายพันธุ์โดยการดัดแปรระบบวิถีเมแทบอลิซึม และหาสภาวะที่เหมาะสมในการผลิต

ไซยาโนแบคทีเรียชนิดที่เป็นเซลล์เดี่ยว unicellular (A) และเส้นสาย filamentous (B)

           งานวิจัยเกี่ยวกับการผลิตพลังงานทดแทนในห้องปฏิบัติการของ ศ. ดร. อรัญ อินเจริญศักดิ์นั้น  ได้เริ่มทำเมื่อประมาณ 10 กว่าปีที่ผ่านมา โดยเริ่มศึกษาไบโอไฮโดรเจน ซึ่งคาดหวังว่าจะนำไปสู่การใช้ไฮโดรเจนที่ผลิตโดยกระบวนการทางชีวภาพ เป็นพลังงานทดแทนในอนาคตอันใกล้นี้  ได้ทำการศึกษาในไซยาโนแบคทีเรียหลายชนิด รวมทั้งสาหร่ายสีเขียว  พบว่าสาหร่ายสีเขียว Tetraspora sp. CU2551 มีศักยภาพในการผลิตไฮโดรเจนได้ดีที่สุด  ปัจจุบันมีผลงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ทางด้านไฮโดรเจนแล้วมากกว่า 10 เรื่อง รวมถึงบทความปริทัศน์ (Review article) 3 เรื่อง จากการมุ่งมั่นทำงานวิจัยเกี่ยวกับเรื่องการใช้ประโยชน์จากสาหร่ายจุลภาคมากกว่า 30 ปี ล่าสุดสำนักงานการวิจัยแห่งชาติได้ประกาศเกียรติคุณให้ ศ. ดร. อรัญ อินเจริญศักดิ์ เป็นนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาเกษตรศาสตร์และชีววิทยา ประจำปืงบประมาณ 2565

            สุดท้ายนี้ ศาสตราจารย์ ดร. อรัญ อินทรเจริญศักดิ์ ได้ให้คำแนะนำแก่คณาจารย์รุ่นกลางและรุ่นใหม่ในคณะวิทยาศาสตร์ ว่า ในการทำงานวิจัย บางครั้งผู้วิจัยอาจต้องเผชิญกับปัญหาอุปสรรค และความยากลำบาก จึงอยากแนะนำให้อาจารย์มีเป้าหมาย มีแผนงาน มีใจมุ่งมั่น ไม่ยอมแพ้ต่อความล้มเหลว นอกจากนี้ขอให้มีกำลังใจหรือ passion ในการทำงานวิจัยเพื่อที่จะได้สร้างผลงาน พัฒนาตนเองให้มีความเป็นเลิศในศาสตร์นั้น ๆ สร้างสรรค์ผลงานที่มีคุณภาพสูง มี citation เพื่อสร้างชื่อเสียงให้แก่คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและประเทศชาติ  

ผู้สนใจสามารถรับชมวิดีโอการสัมภาษณ์ศาสตราจารย์ ดร. อรัญ อินทรเจริญศักดิ์ สั้น ๆ โดย ผู้ช่วยศาสตรารย์ ดร.สิทธิพร ภัทรดิลกรัตน์  https://drive.google.com/file/d/1yIaNkdDRmr8aOhhmnGjfb2M9KgxGEbUK/view?usp=sharing

ผลงานตีพิมพ์บางส่วน

  1. Sivaramakrishnan R, *Shanmugam S, Manigandan S, Mathimani T, Incharoensakdi A, Kim S-H, Parthiban A, Geo VE, Brindhadevi K, Pugazhendhi A (2021) Insights on biological hydrogen production routes and potential microorganisms for high hydrogen yield. Fuel 291: 120136. [IF 6.609]
  2. Khetkorn W, Lindblad P, *Incharoensakdi A (2020) Enhanced H2 production with efficient N2 -fixation by fructose mixotrophically grown Anabaena PCC 7120 strain disrupted in uptake hydrogenase. Algal Research 47: 101823. [IF 4.401]
  3. Tinpranee N, *Incharoensakdi A, *Phunpruch S (2018) Screening cyanobacteria from marine coastal waters of Thailand for biohydrogen production. Journal of Applied Phycology 30: 3471-3481. [IF 3.215]
  4. Khetkorn W, *Rastogi RP, Incharoensakdi A, Lindblad P, Madamwar D, Pandey A, Larroche C (2017) Microalgal hydrogen production: A review. Bioresource Technology 243: 1194-1206. [IF 9.642]
  5. Maneeruttanarungroj C, Lindblad P, *Incharoensakdi A (2010) A newly isolated green alga Tetraspora CU2551 from Thailand with efficient hydrogen production. International Journal of Hydrogen Energy 35: 13193-13199. [IF 5.816]

 

📢📢**ประชาสัมพันธ์ บริการใหม่!!! จาก งานวิจัยและบริการวิชาการ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อเพิ่ม KPI ภาควิชา/CE-RU-STAR** 📢📢

👉อาจารย์ที่สนใจสามารถนัดสัมภาษณ์เพื่อให้ข้อมูลข่าว หรือ ส่งข่าวสั้นมาได้ที่ลิ้ง https://forms.gle/7rpAGtXRP2QTCAX79 หรือ สแกน QR code ด้านล่างนี้

👉สอบถามเพิ่มเติมติดต่อ งานวิจัยและบริการวิชาการ คุณธนัฏฐา สุทธิมาศ โทรศัพท์ 02-2185128