งานบริการวิชาการและวิจัย

ประโยชน์กับชุมชน-สังคม-ประเด็นร้อน

ประโยชน์จากผึ้ง สู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ

ศ.ดร. จันทร์เพ็ญ จันทร์เจ้า  ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์

       

         ผึ้งมีบทบาทที่สำคัญอย่างยิ่งต่อการผสมเกสรของพืชพันธุ์ต่าง ๆ มีความสำคัญต่อระบบนิเวศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจทางการเกษตร ส่วนผลิตภัณฑ์ผึ้งยังถูกนำมาใช้ประโยชน์ทางด้านอาหาร ยาและเครื่องสำอางอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะน้ำผึ้ง เกสรผึ้ง พรอพอลิส ไขผึ้ง พิษผึ้งและนมผึ้ง มีบันทึกการใช้ประโยชน์ไว้อย่างยาวนานในอียิปต์ กรีกและจีน ได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลายให้ใช้เป็นส่วนประกอบในยาพื้นเมืองหรือยาแผนโบราณและถูกนำไปประยุกต์ใช้ทางด้านการแพทย์ทางเลือกได้อีกด้วย

          ทีมงานวิจัยของ ศาสตราจารย์ ดร. จันทร์เพ็ญ จันทร์เจ้า ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ร่วมกับ ศาสตราจารย์ ดร. ปรีชา ภูวไพรศิริศาล ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ และ อาจารย์ทรงจันทร์ ภู่ทอง สถาบันวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพและวิศวกรรมพันธุศาสตร์ จุฬาฯ มีความสนใจเกี่ยวกับคุณสมบัติ องค์ประกอบและฤทธิ์ทางชีวภาพของพรอพอลิส (propolis) และเกสรผึ้ง (bee pollen) โดยเฉพาะประโยชน์ในเชิงการแพทย์และการนำไปใช้เป็นผลิตภัณฑ์ในการเสริมความงาม ซึ่งเป็นการเพิ่มคุณค่าให้กับผลิตภัณฑ์ผึ้งและส่งเสริมอุตสาหกรรมการเลี้ยงผึ้ง (ภาพที่ 1)

ภาพที่ 1-ทีมวิจัยของ ศ. ดร. จันทร์เพ็ญ และคณะออกสำรวจภาคสนามเพื่อสำรวจผึ้งและเก็บผลิตภัณฑ์จากผึ้ง

       

         พรอพอลิส หรือ bee glue คือ ยางเหนียวที่เป็นของผสมของสสารจำนวนมาก (ภาพที่ 2) ได้จากการเก็บรวบรวมยางไม้ของผึ้งงาน ใช้ในการป้องกันและซ่อมแซมรัง  มีองค์ประกอบของสารหลายชนิดอาทิ ยางเหนียว ไข กรดไขมัน essential oils เรณูดอกไม้ และสารประกอบอินทรีย์ต่าง ๆ โดยองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้มีฤทธิ์ทางชีวภาพ คือ ฟลาโวนอยด์ (flavonoid) และสารประกอบฟีนอลิก (phenolic compounds) ทำให้ปัจจุบันพรอพอลิสมีการนำมาใช้เป็นส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่มีจุดประสงค์ในการยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย ต้านไวรัส ต้านมะเร็ง ต้านการอักเสบ เป็นต้น  ส่วนเกสรผึ้ง คือ ผลิตภัณฑ์ของผึ้งที่ได้จากการเก็บเรณูของดอกไม้ของผึ้งงาน จากนั้นจะถูกนำมาผสมกับน้ำต้อย (ภาพที่ 3) เอนไซม์ในต่อมน้ำลายของผึ้งและอื่น ๆ ปั้นเป็นก้อนแกรนูล ถูกนำมาเก็บในรังผึ้งเพื่อเป็นอาหาร เกสรผึ้งอุดมไปด้วยคาร์โบไฮเดรต (ฟรุกโทส กลูโคส ซูโครส เป็นต้น) โปรตีน ไขมัน วิตามิน (A, B และ C เป็นต้น) และแร่ธาตุ (potassium, phosphorus, calcium เป็นต้น) รวมถึงสารประกอบฟีนอลิก เทอร์พีน เอสเทอร์และฟลาโวนอยด์ ซึ่งมีคุณสมบัติในการต้านการเติบโตของจุลินทรีย์ ต้านอนุมูลอิสระ ต้านมะเร็ง ต้านการอักเสบ และอื่น ๆ  

ภาพที่ 2–  พรอพอลิสจากชันโรง Trigona incisa

ภาพที่ 3-  เกสรผึ้งจากเรณูดอกไมยราบไร้หนาม Mimosa diplotricha

         ทีมงานวิจัยของ ศาสตราจารย์ ดร. จันทร์เพ็ญ จันทร์เจ้า ได้ศึกษาฤทธิ์ต้านการเพิ่มจำนวนของเซลล์มะเร็ง เนื่องจากโรคมะเร็งจัดเป็นโรคที่เกิดจากหลายปัจจัย เกี่ยวข้องกับความผิดปกติทางพันธุกรรม สารก่อให้เกิดการกลายพันธุ์ต่าง ๆ โดยได้ค้นพบว่า ในซีรูเมน (cerumen) ที่ของชันโรงถ้วยดำ (Tetragonula laeviceps) มีสารที่น่าสนใจหลายชนิด หนึ่งในนั้นคือสาร alpha-Magnostin (ภาพที่ 4) สารชนิดนี้มีฤทธิ์ที่เป็นพิษต่อเซลล์มะเร็ง โดยสามารถต้านการเพิ่มจำนวนของเซลล์มะเร็งเต้านม (BT 474) เซลล์มะเร็งปอด (Chago) เซลล์มะเร็งตับ (Hep-G2) เซลล์มะเร็งกระเพาะอาหาร (KATO-III) เซลล์มะเร็งลำไส้ใหญ่ (SW620) และ รวมถึงเซลล์มะเร็งรังไข่ (SKOV-3) เป็นต้น นอกจากนี้สารชนิดนี้ยังมีพิษน้อยมากต่อเซลล์ไฟโบรบลาสต์ (CCD-986sk) ซึ่งเป็นเซลล์ที่ใช้เป็นกลุ่มควบคุม เมื่อนำไปทดสอบความปลอดภัยกับสัตว์ทดลอง (เอ็มบริโอของปลาม้าลาย) ก็ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ กล่าวคือ สาร alpha-Magnostin ไม่มีผลเป็นพิษต่อสัตว์ทดลอง ดังนั้นข้อมูลทางด้านนี้ของสารประกอบในพรอพอลิสในประเทศไทยจึงเป็นสิ่งที่น่าสนใจ และอาจนำไปพัฒนาต่อยอดเพื่อเป็นสารต้านการเพิ่มจำนวนของเซลล์มะเร็งในอนาคต

ภาพที่ 4–  alpha-Magnostin ในซีรูเมนจากชันโรง T. laeviceps

ภาพที่ 5-  safflospermidine A และ safflospermidine B ในเกสรผึ้งจากเรณูดอกทานตะวัน Helianthus annuus L.

         นอกจากนี้งานวิจัยของศาสตราจารย์ ดร. จันทร์เพ็ญ จันทร์เจ้า ยังได้สนใจฤทธิ์ต้านการเติบโตของจุลินทรีย์ของพรอพอลิส เนื่องจากในทางการแพทย์พื้นเมือง พรอพอลิสมักถูกนำมาใช้เป็นสารทดแทนยาปฏิชีวนะ ใช้เพื่อรักษาบาดแผล ไข้และป้องกันการติดเชื้อ มาเป็นระยะเวลาอันยาวนาน และถูกนำมาประยุกต์ใช้เป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เพื่อต้านการเติบโตของจุลินทรีย์ เช่น น้ำยาบ้วนปาก แชมพู ครีมนวดผม ครีม โลชัน ลิปสติก สบู่และยาสีฟัน วัตถุเจือปนอาหาร ในขณะนี้พรอพอลิสถูกนำมาใช้ในทางการแพทย์แผนปัจจุบัน ร่วมกับเทคโนโลยีสมัยใหม่มากขึ้น เช่น ผ้าปิดแผล ที่นำพรอพอลิสมารวมเข้ากับ poly[(R)-3-hydroxybutyrate-co-(R)-3-hydroxyhexanoate] (PHBH) polymer โดยใช้ electrospinning process  ซึ่งอาจช่วยให้การสมานแผลเกิดได้เร็วขึ้น  

         นอกจากสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพที่พบในพรอพอลิส ทีมงานวิจัยของศาสตราจารย์ ดร. จันทร์เพ็ญ จันทร์เจ้า ยังได้ค้นพบสาร safflospermidine A และ safflospermidine B ในเกสรผึ้ง (ภาพที่ 5) สารทั้งคู่นี้มีฤทธิ์ต้านเอนไซม์ไทโรซิเนส (EC 1.14.18.1) ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่ทำหน้าสำคัญในกระบวนการสร้างเมลานิน ถ้าร่ายกายได้รับรังสี U.V. จากแสงแดดที่มากเกินไป จะมีการสร้างเมลานินที่มากเกินไป ส่งผลให้ผิวมีสีคล้ำ และส่งผลให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์อื่น ๆ ตามมา เช่น ฝ้า กระ โรคที่มีสาเหตุมาจาก UVB เป็นต้น ดังนั้นการหาสารที่มีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ไทโรซิเนสเพื่อลดการสร้างเมลานินจึงเป็นสิ่งสำคัญ ในปัจจุบันมีการค้นพบสารที่มีฤทธิ์ในการยับยั้งเอนไซม์ไทโรซิเนสหลายชนิด ได้แก่ kojic acid ที่สกัดได้จากเชื้อรา Aspergillus spp. arbutin สกัดได้จากพืชวงศ์ Ericaceae และ dihydrochalcone สกัดได้จากพืช Flemingia philippinensis และสารสังเคราะห์ เช่น อนุพันธ์ของ chalcone, flavanone, resveratrol และ coumarin แต่เนื่องจากอาการข้างเคียงจากการใช้สารเหล่านี้ยังมีอยู่ ดังนั้นการค้นพบ safflospermidine A และ safflospermidine B จึงอาจทางเลือกใหม่ที่มีความปลอดภัยกว่าและอาจนำไปสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์บำรุงผิวในอนาคต

 

               สุดท้ายนี้ ศาสตราจารย์ ดร. จันทร์เพ็ญ อยากให้นักวิจัยรุ่นใหม่ ทั้งนักชีววิทยา นักชีวเคมีและนักเคมี หันมาสนใจศึกษาฤทธิ์ทางชีวภาพจากสารประกอบในเกสรผึ้งและพรอพอลิสในประเทศไทย สารเหล่านี้เป็นทรัพยากรทางการแพทย์ที่สำคัญ และอาจช่วยในการพัฒนานวัตกรรม เช่น ยารักษาโรคชนิดใหม่ ในอนาคต

                ผลงานวิจัยนี้ได้สร้างองค์ความรู้พื้นฐานทางด้านผลิตภัณฑ์ของผึ้ง เป็นการเพิ่มมูลค่าและส่งเสริมอุตสาหกรรมการเลี้ยงผึ้ง ในขณะเดียวกันยังเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ใหม่ ๆ  ผลงานของ ศ. ดร.จันทร์เพ็ญ จันทร์เจ้า และทีมงาน ชิ้นนี้ได้รับรางวัลการวิจัยแห่งชาติ : รางวัลผลงานวิจัย ประจำปีงบประมาณ 2565 สาขาเกษตรศาสตร์และชีววิทยา ระดับดี จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

เอกสารอ้างอิง

Khongkarat, P., Ramadhan, R., Phuwapraisirisan, P., and Chanchao, C. 2020.  Safflospermidines from the bee pollen of Helianthus annuus L. exhibit a higher in vitro antityrosinase activity than kojic acid. Heliyon 6: e03638.  

Ittiudomrak, T., Puthong, S. Roytrakul, S., and Chanchao, C. 2019. α-Mangostin and apigenin induced cell cycle arrest and programmed cell death in ovarian cancer SKOV-3 cells.  Toxicological Research 35(2): 167-179.  

Nugitrangson, P., Puthong, S., Iempridee, T., Pimtong, W., Pornpakakul, S., and Chanchao, C. 2016. In vitro and in vivo characterization of the anticancer activity of Thai stingless bee (Tetragonula laeviceps) cerumen. Experimental Biology and Medicine 241(2): 166-176.  

 

เรียบเรียงข้อมูลและข้อมูลภาพประกอบจาก  :  ศ.ดร.จันทร์เพ็ญ จันทร์เจ้า

บรรณาธิการโดย  :   ผศ.ดร.สิทธิพร ภัทรดิลกรัตน์ และ คุณธนัฎฐา สุทธิมาศ งานวิจัยและบริการวิชาการ คณะวิทยาศาสตร์

📢📢**ประชาสัมพันธ์ บริการใหม่!!! จาก งานวิจัยและบริการวิชาการ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อเพิ่ม KPI ภาควิชา/CE-RU-STAR** 📢📢

👉อาจารย์ที่สนใจสามารถนัดสัมภาษณ์เพื่อให้ข้อมูลข่าว หรือ ส่งข่าวสั้นมาได้ที่ลิ้ง https://forms.gle/7rpAGtXRP2QTCAX79 หรือ สแกน QR code ด้านล่างนี้

👉สอบถามเพิ่มเติมติดต่อ งานวิจัยและบริการวิชาการ คุณธนัฏฐา สุทธิมาศ โทรศัพท์ 02-2185128