งานบริการวิชาการและวิจัย

ประโยชน์กับชุมชน-สังคม-ประเด็นร้อน

เสาจราจรล้มลุก ผลิตภัณฑ์แปรรูปมูลค่าสูงจากยางพารา

ภาพที่ 1  รองศาสตราจารย์ ดร.ศิริลักษณ์ พุ่มประดับ

           ประเทศไทยเป็นหนึ่งสามประเทศหลักในอาเซียน (ร่วมกับอินโดนีเซีย และมาเลเซีย) ที่เป็นแหล่งผลิตน้ำยางธรรมชาติสูงถึงประมาณ 75% ของโลก โดยประเทศไทยเป็นผู้นำที่มีปริมาณการผลิตสูงสุด คิดเป็นปีละ 4.5 ล้านตัน หรือ 37.5% ของโลก ในขณะที่มีการใช้ยางที่ผลิตภายในประเทศประมาณ 0.6 ล้านตัน หรือ 13% ของที่ผลิต ปัจจุบันยางพาราที่ผลิตได้ถูกนำไปใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น การผลิตยางล้อ ถุงมือยาง อุปกรณ์ทางการแพทย์ บางกันกระแทก เป็นต้น อย่างไรก็ดียางพารากำลังประสบปัญหาราคาตกต่ำ ซึ่งเกิดจากภาวะเศรษฐกิจของโลกที่ชะลอตัวทำให้อุตสาหกรรมต่าง ๆ ต้องชะลอตัวลงตามไปด้วย นอกจากนี้ประเทศที่เคยเป็นผู้นำเข้ายางพาราสำคัญของโลก เช่น ประเทศจีน ได้มีนโยบายส่งเสริมให้เพิ่มการเพาะปลูกยางพาราทำให้ความต้องการนำเข้ายางพาราจากต่างประเทศลดลง รวมถึงหลายประเทศในเอเซีย ได้มีการปลูกยางพาราเพิ่มขึ้น  นอกจากนี้ปัจจุบันได้มีความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีในการเปลี่ยนมาใช้ยางสังเคราะห์เพื่อทดแทนยางธรรมชาติในหลายอุตสาหกรรม เนื่องจากยางสังเคราะห์มีต้นทุนในการผลิตถูกกว่า ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างตลาดยางของโลกอย่างสำคัญ ยางพาราดิบที่ส่งออกไปขายยังต่างประเทศ เมื่อถูกนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ ทำให้มีมูลค่าเพิ่ม มีราคาสูงขึ้น ดังนั้นทำให้เกิดการขาดดุลทางเศรษฐกิจ

           ทำอย่างไรประเทศไทยถึงจะเพิ่มการพัฒนาและแปรรูปแผ่นยางดิบหรือน้ำยางพาราให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูงและมีการใช้งานในวงกว้างได้มากขึ้น รองศาสตราจารย์ ดร.ศิริลักษณ์ พุ่มประดับ (ภาพที่ 1) ภาควิชาเคมีเทคนิค ได้รับทุนวิจัยจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และได้สร้างความร่วมมือกับบริษัทเอกชนในการพัฒนา “เสาจราจรล้มลุก” (ภาพที่ 2) จากยางพารา

         

          ทั้งนี้เสาจราจรล้มลุกที่ใช้ตามท้องถนนในปัจจุบันผลิตจากพลาสติก (ภาพที่ 2) มีน้ำหนักเบา ราคาถูก แต่มีความเปราะและแตกหักง่าย การดูดซับรับแรงกระแทกค่อนข้างต่ำ ทำให้เมื่อได้รับแรงกระแทกจากพาหนะไประยะหนึ่ง มักเกิดความเสียหายได้ง่าย (ทำให้เสาล้มแต่ไม่ลุก) ทำให้อายุการใช้งานสั้น นอกจากนี้ยังมีเสาล้มลุกอีกประเภทที่มีการขายในเชิงพาณิชย์ ซึ่งผลิตจากเทอร์มอพลาสติกพอลิยูรีเทน (Thermoplastic polyurethane หรือ TPU) เสาจราจรล้มลุมชนิดนี้มีความทนทานและสมบัติที่เหนือกว่าเสาจราจรล้มลุกพลาสติก แต่ข้อเสียคือมีราคาสูงกว่ามาก   (ภาพที่ 2)

         ดังนั้นจึงมีการพัฒนางานวิจัยเพื่อนำยางพาราซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักภายในประเทศมาแปรรูปเป็นเสาจราจรล้มลุก (ภาพที่ 2) โดยข้อดีของการนำยางพารามาใช้ คือ ยางพารามีน้ำหนักมาก สามารถรับแรงปะทะได้ดี ไม่จำเป็นต้องบรรจุทรายหรือน้ำลงในเสาจราจรล้มลุกเพื่อเป็นตัวกลางในการรับแรงกระแทก ซึ่งเป็นจุดเด่นที่เหนือกว่าเมื่อเทียบกับการใช้เสาจราจรล้มลุกประเภทพลาสติก

         อย่างไรก็ดียางพาราตามธรรมชาติมีข้อด้อยโดยโครงสร้างของยางพาราซึ่งสารประกอบประเภท cis-1,4 isoprene มีพันธะคู่ (ภาพที่ 3) ทำให้ยางพาราไม่ทนต่อแสงแดด โอโซน และความร้อน

ภาพที่ 3 โครงสร้างของยางพาราธรรมชาติ ที่เป็นสารประกอบประเภท cis-1,4 isoprene โดยที่ค่า n มีค่าตั้งแต่ 15,000 – 20,000 ทำให้ยางธรรมชาติไวต่อแสงและความร้อน

ภาพที่ 2 เสาจรจรล้มลุกประเภทต่าง ๆ (A)  เสาจราจรล้มลุกจากยากธรรมชาติ (B) เสาจราจรล้มลุกจากพอลิเอทิลีน (polyethylene) (C) เสาจราจรล้มลุกจากเทอร์โมพลาสติกพอลิยูรีเทน (TPU)

          โดยทางทีมวิจัยของ รองศาสตราจารย์ ดร.ศิริลักษณ์ พุ่มประดับ ได้พัฒนาสูตรในการขึ้นรูปผลิตภัณฑ์เสาจราจรล้มลุกเป็นที่สำเร็จ ทำให้ได้เสาจราจรล้มลุกที่ผลิตจากยางพารา ที่มีคุณภาพดีไม่แพ้เสาจราจรล้มลุกที่ผลิตจากเทอร์มอพลาสติกพอลิยูรีเทน และมีราคาถูกกว่าถึง 3 เท่า นอกจากนี้ทางคณะผู้วิจัยได้มีการนำผลิตภัณฑ์เสาจราจรล้มลุกจากยางธรรมชาติไปใช้จริงบริเวณทางด่วนพระราม 7 และ ทางด่วนศรีรัชต์ (ภาพที่ 4)

ภาพที่ 4  บริเวณทางด่วนพระราม 7 (ซ้าย) และ ทางด่วนศรีรัชต์ (ขวา) หมายเหตุ: ต้นใหม่คือเสาจราจรล้มลุกจากงานวิจัยนี้ ติดตั้งเทียบกับเสารจราจรล้มลุกเดิม

ในขณะนี้ผลิตภัณฑ์ชนิดนี้ได้มีงานวิจัยรองรับ และนำไปสู่ระดับขยายขนาดแล้ว พร้อมที่จะให้ผู้ลงทุน/ผู้สนใจ มาพูดคุยด้านการร่วมมือและพัฒนาต่อยอด ทั้งนี้ หน่วยงานของภาครัฐและเอกชนที่สนใจสามารถติดต่อขอรายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก

รองศาสตราจาย์ ดร.ศิริลักษณ์ พุ่มประดับ

ภาควิชาเคมีเทคนิค คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

โทร +66 2218 7518

อีเมล sirilux.p@chula.ac.th

เว็ปไซต์ http://www.rtru.research.chula.ac.th/slp.html

 

เรียบเรียงข้อมูลโดย  :  ผศ.ดร.สิทธิพร ภัทรดิลกรัตน์ และ คุณธนัฎฐา สุทธิมาศ งานวิจัยและบริการวิชาการ คณะวิทยาศาสตร์

📢📢**ประชาสัมพันธ์ บริการใหม่!!! จาก งานวิจัยและบริการวิชาการ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อเพิ่ม KPI ภาควิชา/CE-RU-STAR** 📢📢

👉อาจารย์ที่สนใจสามารถนัดสัมภาษณ์เพื่อให้ข้อมูลข่าว หรือ ส่งข่าวสั้นมาได้ที่ลิ้ง https://forms.gle/7rpAGtXRP2QTCAX79 หรือ สแกน QR code ด้านล่างนี้

👉สอบถามเพิ่มเติมติดต่อ งานวิจัยและบริการวิชาการ คุณธนัฏฐา สุทธิมาศ โทรศัพท์ 02-2185128