งานบริการวิชาการและวิจัย

ประโยชน์กับชุมชน-สังคม-ประเด็นร้อน

Film Protextor: ผลิตภัณฑ์เคลือบผิวแบบลอกออกได้จากยางพารา

             งานก่อสร้างประกอบด้วยงาน 2 ส่วนใหญ่ คือ งานโครงสร้าง และงานทางสถาปัตยกรรม เมื่อโครงสร้างอาคารแล้วเสร็จไปประมาณ 50% จะเริ่มมีการตกแต่งภายใน เช่น การทาสี การเดินระบบประปา-ไฟฟ้า การติดตั้งกระจกหรือกระเบื้องในห้องต่าง ๆ แต่การทำงานก่อสร้างประกอบด้วยผู้รับเหมาหลายทีม ทำให้วัสดุที่ได้ติดตั้งไปแล้วอาจเกิดความเสียหายในระหว่างการก่อสร้างจากสี สะเก็ดปูน และสะเก็ดไฟจากการเจียหรือเชื่อมโลหะ (ภาพที่ 1) ดังนั้นพื้นผิวของวัสดุที่ทำการติดตั้งไว้ก่อนแล้วจึงต้องถูกปกคลุมด้วยฟิล์มพลาสติก ผ้าใบพลาสติก กระดาษ แผ่นฟิวเจอร์บอร์ด หรือไม้อัดเพื่อลดความเสียหายให้ได้มากที่สุดซึ่งถือเป็นหนึ่งในต้นทุนของานก่อสร้าง (ภาพที่ 2) แต่วัสดุพวกนี้ไม่ทนต่อลมและน้ำ ไม่แนบกับพื้นผิวที่ต้องการ และติดไฟได้ง่าย นอกจากนี้การนำวัสดุเหล่านี้มาปกคลุมพื้นผิวที่มีขนาดกว้างก็ทำได้ยาก เสียเวลาและแรงงานในการตัดแปะพลาสติกหรือกระดาษ และไม่นิยมนำกลับมาใช้ใหม่ ทำให้เกิดขยะพลาสติกจำนวนมากภายหลังการก่อสร้างเสร็จสิ้น

ภาพที่ 1 ริ้วรอยที่เกิดขึ้นบนพื้นผิววัสดุขณะก่อสร้าง

ภาพที่ 2 การปกคลุมพื้นผิวขณะก่อสร้างหรือการรีโนเวทโดยใช้วัสดุที่ไม่ทนต่อลมและน้ำ

                ในต่างประเทศมีผลิตภัณฑ์เคลือบผิวที่สามารถใช้พ่นหรือทาเพื่อปกป้องพื้นผิวได้ในบริเวณกว้าง ยึดติดกับพื้นผิวได้ดี และสามารถลอกออกได้เมื่อต้องการ แต่สารเคลือบผิวเหล่านี้มีราคาสูงกว่ากระดาษหรือพลาสติกหลายเท่า (100 – 150 บาท/ตร.ม. และใช้ปกคลุมพื้นผิวได้ 3 – 6 ตร.ม./กก.) จึงมักใช้สารเหล่านี้กับการก่อสร้างอาคารหรือการตกแต่งภายในที่ใช้วัสดุมูลค่าสูง เช่น คอนโดมีเนียม โรงแรม หรือสถานีรถไฟฟ้า ดังนั้นเพื่อให้ผลิตภัณฑ์ในลักษณะนี้สามารถทำตลาดและเข้าถึงไซต์งานก่อสร้างได้ในทุกระดับ จำเป็นที่จะต้องหาวัสดุทดแทนตัวใหม่ที่มีราคาถูก หาได้ง่ายภายในประเทศ มีวิธีการใช้ที่ไม่ยุ่งยาก และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเมื่อพิจารณาลักษณะผลิตภัณฑ์ที่เคลือบผิวที่มาจากต่างประเทศดังที่กล่าวไว้ด้านบน ยางธรรมชาติก็น่าจะมีศักยภาพในการเป็นวัสดุทดแทนผลิตภัณฑ์เหล่านี้ เนื่องจากยางธรรมชาติเป็นพอลิเมอร์ธรรมชาติที่ประเทศไทยสามารถผลิตได้เป็นจำนวนมากทั้งในรูปแบบยางแข็งและน้ำยางข้น ดังนั้นยางพาราในรูปน้ำยางข้นจึงเป็นอีกตัวเลือกหนึ่งที่น่าสนใจในการนำมาพัฒนาให้เป็นวัสดุเคลือบผิวแบบลอกออกได้เพื่อใช้ทดแทนผลิตภัณฑ์ที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ

ภาพที่ 3 ศาสตราจารย์ ดร.นพิดา หิญชีระนันทน์

              ศาสตราจารย์ ดร.นพิดา หิญชีระนันทน์ (ภาพที่ 3) และทีมวิจัยจากภาควิชาเคมีเทคนิค คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ บริษัท สหสินไทยค้าวัตถุก่อสร้าง จำกัด ได้คิดค้นและพัฒนายางพาราเพื่อให้มาใช้เป็นผลิตภัณฑ์เคลือบผิวแบบลอกออกได้ที่เป็นมิตรต่อผู้ใช้งานและสิ่งแวดล้อมภายใต้ชื่อผลิตภัณฑ์ “Film Protextor” (ภาพที่ 4) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากโครงการ “ปั้นดาว” ของสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) เมื่อปี 2563

ภาพที่ 4 ผลิตภัณฑ์เคลือบผิว Film Protextor

            Film Protextor เป็นอิมัลชันแขวนลอยในวัฏภาคน้ำ ไม่มีส่วนผสมของตัวทำละลายอินทรีย์ จึงปลอดภัยต่อผู้ใช้งาน สามารถนำมาเคลือบผิวผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ได้โดยการทาด้วยแปรงทาสี หรือเครื่องพ่นสีไฟฟ้าโดยไม่จำเป็นต้องทำความสะอาดพื้นผิว (ภาพที่ 5) เมื่อแห้งแล้วจะเกิดเป็นแผ่นฟิล์มปกคลุมพื้นผิวที่ต้องการ โดยความหนาของแผ่นฟิล์มขึ้นกับจำนวนรอบของการทาหรือพ่น สามารถใช้กับพื้นผิวต่าง ๆ ได้ (ภาพที่ 6) และปกป้องพื้นผิววัสดุจากการขูดขีดในลักษณะต่างๆ (ภาพที่ 7)

ภาพที่ 5 การใช้งาน Film Protextor แบบพ่นด้วยการพ่นสีไฟฟ้าและทา

ภาพที่ 6 การใช้งาน Film Protextor เคลือบผิววัสดุต่าง ๆ

ภาพที่ 7 การปกป้องพื้นผิววัสดุด้วย Film Protextor

           Film Protextor สามารถลดความเสียหายของพื้นผิวกระจกที่เกิดจากสะเก็ดไฟจากลวดเชื่อมหรือการเจียเหล็กได้เป็นอย่างดี (ภาพที่ 8) และสามารถนำ Film Protextor ไปประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ เช่น ใช้ในการปกป้องพื้นผิวของแผ่นหินในระหว่างการตัดหรือเจียเพื่อทำชิ้นงานต่าง ๆ โดยฟิล์มยางที่ปกคลุมพื้นผิวของแผ่นหินจะสามารถปกป้องพื้นผิวของแผ่นหินไม่ให้มีริ้วรอยจากเศษหินในระหว่างการตัดหรือเจีย นอกจากนี้ Film Protextor ยังสามารถนำมาใช้ในการทำความสะอาดพื้นผิวที่มีเชื้อราได้อีกด้วย โดยเมื่อนำ Film Protextor มาทาลงบนผนังที่มีเชื้อราแล้วปล่อยให้แห้งจนเกิดฟิล์มยางเคลือบบนผนัง ฟิล์มยางนี้สามารถลอกคราบเชื้อราที่เกิดขึ้นบนผนังออกมาได้ด้วย (ภาพที่ 9)

ภาพที่ 8 การทดสอบ Film Protextor ในการลดความเสียหายของพื้นผิวกระจกที่เกิดจากสะเก็ดไฟจากลวดเชื่อมหรือการเจียเหล็ก

ภาพที่ 9 การลอกเชื้อราออกจากพื้นผิวกระจกและผนังปูนโดยใช้ Film Protextor

          นอกเหนือจากประโยชน์ของ Film Protextor ที่มีต่ออุตสาหกรรมการก่อสร้างแล้ว สำหรับเกษตรกรชาวสวนยางก็จะได้รับประโยชน์จากโครงการนี้เช่นกัน เนื่องจากวัตถุดิบหลักในการทำผลิตภัณฑ์ Film Protextor คือ ยางพารา ดังนั้นผลิตภัณฑ์นี้ก็จะเป็นอีกหนทางหนึ่งในการเพิ่มปริมาณการใช้ยางพารา ส่งผลทำให้เกิดการดูดซับปริมาณยางพาราที่มีอยู่มากในสต็อก ประมาณการได้ว่าทุก ๆ 10 ตันของ Film Protextor จำเป็นต้องใช้น้ำยางสดถึง 19 ตันเพื่อผลิตเป็นน้ำยางข้นเพื่อใช้เป็นสารตั้งต้นในการทำผลิตภัณฑ์ Film Protextor ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งในการเพิ่มช่องทางการระบายน้ำยางธรรมชาติ ทำให้เกษตรกรชาวสวนยางมีรายได้เพิ่มมากขึ้น และเป็นไปตามยุทธศาสตร์ยางพาราระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560 – 2579) อีกด้วย

         โครงการนี้เป็นการร่วมมือกับภาคเอกชนโดยบริษัท สหสินไทยค้าวัตถุก่อสร้าง จำกัด ท่านที่สามารถเข้าไปดูรายละเอียดในเว็ปไซต์ https://filmprotextor.com/ หรือติดต่อเพื่อทดลองใช้ผลิตภัณฑ์ Film Protextor ได้ที่

  • ศ.ดร.นพิดา หิญชีระนันทน์ ภาควิชาเคมีเทคนิค คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (e-mail: h@chula.ac.th)
  • บริษัท สหสินไทยค้าวัตถุก่อสร้าง จำกัด (โทร 097-038-3091);

https://www.facebook.com/sahasinthai2493/

เนื้อหาและข้อมูลภาพประกอบจาก  :  ศ. ดร.นพิดา หิญชีระนันทน์

ทีมบรรณาธิการ  :   ผศ.ดร.สิทธิพร ภัทรดิลกรัตน์ และ คุณธนัฎฐา สุทธิมาศ งานวิจัยและบริการวิชาการ คณะวิทยาศาสตร์

เผยแพร่ : 8 สิงหาคม 2565

📢📢**ประชาสัมพันธ์ บริการใหม่!!! จาก งานวิจัยและบริการวิชาการ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อเพิ่ม KPI ภาควิชา/CE-RU-STAR** 📢📢

👉อาจารย์ที่สนใจสามารถนัดสัมภาษณ์เพื่อให้ข้อมูลข่าว หรือ ส่งข่าวสั้นมาได้ที่ลิ้ง https://forms.gle/7rpAGtXRP2QTCAX79 หรือ สแกน QR code ด้านล่างนี้

👉สอบถามเพิ่มเติมติดต่อ งานวิจัยและบริการวิชาการ คุณธนัฏฐา สุทธิมาศ โทรศัพท์ 02-2185128